จากตอนที่แล้ว พี่เล่าให้น้องๆฟังไปว่าเราจะเรียนในค่าย สอวน ให้ดีได้อย่างไร ซึ่งประกอบไปด้วยเพียงสามข้อง่ายๆ คือ
ต้องมีวินัย (Discipline)
ต้องมีเทคนิคการจัดการเวลา (Time management)
การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ (Improve memory)
ในตอนนี้พี่จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับข้อที่ 3 ต่อจากครั้งที่แล้วว่าเมื่อเราเรียนมาแล้ว เราจะสามารถจดจำข้อมูลที่เรียนมาหมดได้อย่างไร ข้อที่ 3 จะประกอบไปด้วย 2 ข้อย่อยคือ 3.1 เข้าใจว่าสมองของเราจดจำข้อมูลได้อย่างไร 3.2 เทคนิคในการเรียนให้จำได้
3.1 เข้าใจว่าสมองของเราจดจำข้อมูลได้อย่างไร
ก่อนอื่นเลย การที่น้องจะจดจำเรื่องที่เรียนมาทั้งหมดได้ น้องต้องเข้าใจก่อนว่าสมองของเราจดจำข้อมูลได้อย่างไร ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า Cognitive Information Processing เป็นทฤษฎีที่บอกว่าสมองเราจัดการกับข้อมูลต่างๆได้อย่างไร ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนง่ายๆ 3 ขั้นตอน ตามภาพข้างล่างนี้
Sensory memory เป็นความจำที่เกิดจากการรับสัมผัสเข้ามาทางประสาทสัมผัส เช่น ขณะที่เราเรียน lecture ตาเรามองอาจารย์ หูได้ยินเสียงอาจารย์สอนและเพื่อนคุย จมูกได้กลิ่นตัวเพื่อนข้าง ๆ มือจับปากกา ก้นสัมผัสกับเก้าอี้ ซึ่ง sensory memory นี้ จะรับทุกอย่างที่เข้ามากระทบกับประสาทสัมผัสของเรา เพียงแต่ความจำนี้อยู่แค่ชั่วครู่แล้วก็หายไป
Working memory หรือ short-term memory เป็นความจำที่มาจากการให้ความสนใจกับข้อมูลที่เรา สนใจเท่านั้น โดยรับข้อมูลได้ 7 士 2 units พร้อมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการแบ่งข้อมูลที่ซับซ้อนให้เป็นชุดเพื่อให้เกิดการจดจำ เรียกว่า
Chunking และเมื่อข้อมูลเข้ามาอยู่ในความจำส่วนนี้จะทำให้เกิดการตอบสนอง(Response) ออกมาเช่น ถึงแม้ว่าเราจะได้ข้อมูลทั้งจากอาจารย์ เพื่อน กลิ่นเหม็น ปากกา เก้าอี้ แต่ถ้าเราให้ความสนใจไปที่อาจารย์สมองก็จะจดจำในสิ่งที่อาจารย์สอนได้
Attention หรือสมาธิเป็นกระบวนการที่เลือกเอาสิ่งที่เราสนใจจาก Sensory memory เข้ามาอยู่ใน Working memory
Pattern Recognition เป็นอีกหนึ่งกระบวนการในการนำสิ่งที่ได้จาก Sensory memory เข้าสู่ Working memory โดยเกิดจากการที่เรารู้ pattern ของสิ่งนั้น ๆ ทำให้สามารถจดจำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น
Long-Term Memory เป็นความจำที่อยู่ในระยะยาว แม้ว่าจะไม่ได้รับข้อมูลนั้นแล้ว โดยกระบวนการนำ ข้อมูลจาก Working memory เข้ามาคือ Rehearsal และ Encoding ขณะที่การดึงข้อมูลกลับออกไป เพื่อให้เกิดการตอบสนองคือ Retrieval เช่น การเรียนในห้อง ข้อมูลที่ได้รับความสนใจจะถูกจัดเก็บเข้าไปใน Long-TermMemory และจะถูกเอาออกมาในห้องสอบ
Rehearsal เป็นการทวนข้อมูลหลายรอบ ๆ เพื่อให้เกิดการจดจำเข้า Long-Term Memory เช่น การท่องกลอนซ้ำไปมาหลาย ๆ รอบ
Encoding เป็นการนำข้อมูลมาจัดเรียงในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ เช่น การจัดเป็นหมวดหมู่ ทำเป็น Diagram ทำเป็น Mnemonics (ใช้ตัวอักษรตัวแรกมาเรียง ทำเป็นแบบ 3R's เป็นต้น สร้างคำใหม่เป็นประโยค)ทำเรื่องเล่า แต่งเพลง หรือวาดรูป
ถ้าน้องเข้าใจว่าสมองของเราได้จดจำช้อมูลอย่างไร น้องจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนของตัวเองได้ ทำให้สามารถจดจำเนื้อหาการเรียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรนั้นพี่จะมาเล่าให้ฟังในบทความถัดไป ในหัวข้อ 3.2 เกี่ยวกับเทคนิคการจัดการการเรียน ซึ่งเทคนิคต่างๆเหล่านี้ถูกพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลจริง ทำให้สามารถเรียนได้ดีขึ้น เข้าใจมากขึ้น จดจำได้ดีขึ้น ใครสนใจรออ่านได้ในบทความหน้าเลยครับ